การเดิน สามารถช่วยป้องกันและลดอาการของโรคเบาหวานได้จริงหรือไม่ วันนี้เราจะมาบอกความลับของกิจกรรมที่เราทำอยู่ทุกวันอย่างเช่น การเดิน ว่าแท้จริงแล้วมีคุณอเนกอนันต์ต่อชีวิตและสุขภาพ ช่วยให้เราปลอดโรคร้ายได้มากขนาดไหน
การเดินลดเบาหวาน เดินช่วยสุขภาพ
ทราบหรือไม่ว่า วิธีการง่ายๆ ที่เราทุกคนต้องทำในชีวิตประจำวันอย่างเช่น “การเดิน” จะมีประโยชน์มหาศาลเกินคณานับยิ่งกว่าที่เราคาดคิด
มีงานวิจัยบ่งชี้มากมายจากในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา ที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องการเดินที่สามารถช่วยต้านทานโรคภัยได้ โดยเฉพาะโรคที่กำลังคุกคามสุขภาพของชาวอเมริกันและกำลังแพร่ไปทั่วโลกอย่างโรคเบาหวาน และยังรวมถึงโรคอื่นๆเช่น โรคหัวใจ ไขมันอุดตันเส้นเลือด เป็นต้น
มาดูกันว่า การเดิน มันช่วยได้อย่างไร แล้วควรจะต้องเดินแค่ไหนจึงจะเหมาะสมในแต่ละวันครับ
โรคเบาหวานชนิดที่ 2
ก่อนอื่นมารู้จักกันสักหน่อย สำหรับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งปัจจุบันพบมากที่สุดกว่า 90% ของผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมด
ในปัจจุบัน มีการพบว่าเป็นโรคเบาหวานที่มักเกิดในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 30 ปี และมักมีน้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วน ผู้ป่วยเบาหวานชนิดนี้อาจจะไม่มีอาการเหมือนผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะค่อยๆเป็นโดยไม่รู้ตัว แล้วบางรายก็อาจตรวจพบว่ามีโรคแทรกซ้อนด้วย
การเดินหลังมื้ออาหาร ลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2
มีรายงานว่าในปัจจุบันชาวอเมริกันจำนวนมากกว่า 26 ล้านคน ป่วยเป็นโรคเบาหวาน
ขณะที่อีกราว 70 กว่าล้านคน อยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานเช่นกัน
ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ทางรัฐบาลสหรัฐจึงได้เริ่มแผนผลักดันให้มีการเดินหลังกินอาหาร เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หนึ่งในการศึกษาค้นคว้าวิจัย ก็คือคำแนะนำเรื่องการเดินต่อวันให้ได้อย่างน้อย 10,000 ก้าว หรืออย่างน้อย 3-4 กิโลเมตรต่อวัน ซึ่งระยะทางและจำนวนการเดินดังกล่าวได้กลายเป็นมาตรฐานสำหรับอุปกรณ์ช่วยตรวจจับการเต้นของหัวใจอย่างเครื่อง Fitbit และ Apple Watch ในเวลานี้ไปด้วย (หากลงทุนซื้อมาใส่เพื่อจับการเดินและอัตราการเต้นของหัวใจ ก็มีส่วนช่วยตรงนี้ได้เช่นกัน)
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาของภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน ที่ระบุว่า การเดินเพื่อย่อยหลังจากทานอาหารทุกมื้อ อย่างน้อย 15-30 นาทีขึ้นไป มีส่วนช่วยยับยั้งอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลภายในเลือด
ยังมีการศึกษาวิจัยชิ้นต่างๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การเดินย่อยหลังอาหารนอกจากช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ลดลงแล้ว ควรหมั่นทำให้เป็นกิจวัตร แต่อย่างไรก็ตาม การเดินย่อยนี้ไม่ใช่วิธีลดน้ำหนัก หรือช่วยให้ผอมลงชนิดทันตาเห็น และก็ไม่ได้ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อเท่าไรนัก แต่เป้าหมายหลักคือ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และยังมีส่วนช่วยให้การย่อยอาหารทำได้ดีขึ้น โดยเฉพาะคนที่รับประทานอาหารค่ำ แล้วพบปัญหาไม่ย่อย
ความเร็วและท่าเดินที่เหมาะสม
แม้ว่าจะเดินหลังทานอาหาร แต่ความเร็วที่เหมาะสมก็จะช่วยได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันผู้ที่ทานอาหารแล้วไม่มีพื้นที่สำหรับเดิน วิธีหนึ่งที่พอช่วยได้คือการเดินอยู่กับที่ และแกว่งแขนขาเหมือนเดิมจริงเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
สำหรับท่าเดินที่เหมาะสม คือ
- มื่อเดิน ให้งอข้อศอกประมาณ 90 องศา ช่วยเร่งเผาผลาญพลังงาน
- เวลาเดินอย่าก้มหน้า ก้มคอเกินไป ให้ยืดอก ยกไหล่ หลังตรง
- ระหว่างเดิน การแขม่วท้องเป็นระยะ สลับการหายใจ มีส่วนช่วยลดหน้าท้องได้ หากทำสม่ำเสมอ
- ระหว่างเดินให้สูดลมหายใจเข้าลึกๆ แล้วผ่อนลมหายใจออกยาวๆ
สรุป
การเดินลดเบาหวาน โดยเฉพาะการเดินหลังอาหาร สามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน และมีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ หากได้เดินอย่างเหมาะสมทุกวัน และทุกมื้อหลังอาหาร ซึ่งควรฝึกทำให้เป็นกิจวัตรประจำวันครับ